เนื่องจากการกัดกร่อนของโลหะและวัสดุได้สร้างผลกระทบในชีวิตประจำวันของประชาชนชาวไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวต่ออันตรายที่เกิดขึ้นจากการกัดกร่อนไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน และชีวิต ด้วยเหตุนี้ บุคลาการที่ทำงานด้านวัสดุและการกัดกร่อนจึงได้มารวมตัวกันและจัดตั้งชมรมวัสดุและการกัดกร่อนขึ้น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม จากนั้นสมาชิกของชมรมจึงได้ประชุมหารือเพื่อยกสถานภาพจากชมรมเป็นสมาคมเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2534 ที่อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และได้ขอจดทะเบียนสมาคมต่อเลขาธิการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติภายใต้ชื่อ สมาคมวัสดุและการกัดกร่อน และได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมวัสดุและการกัดกร่อนเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2534 โดยมีนายวินัย ละอองสุวรรณ รศ.ดร.หริส สูตะบุตร และ ดร.ลดาวัลย์ โชติมงคล เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และมี รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงค์ เป็นนายกสมาคมคนแรก ณ เวลานั้น มีที่ทำการอยู่ที่ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
สมาคมวัสดุและการกัดกร่อนได้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเรื่อยมา แต่มีเหตุให้ต้องหยุดดำเนินกิจกรรมไว้ช่วงหนึ่ง ซึ่งตามข้อกำหนดของสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้กำหนดไว้ว่า หากสมาคมใดสมาคมหนึ่งได้หยุดการทำกิจกรรม และหากต้องการทำกิจกรรมต่อไป จะต้องทำการยื่นจดทะเบียนเพื่อจัดตั้งสมาคมใหม่อีกครั้ง ดังนั้นหน่วยปฏิบัติการวิเคราะห์การประลัยและการเสื่อมสภาพของวัสดุ (ปัจจุบันชื่อห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ความเสียหายของวัสดุและเทคโนโลยีพื้นผิว) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านงานวิจัยและบริการทางเทคนิคทางด้านการเสื่อมสภาพและการกัดกร่อนของวัสดุให้กับภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานของรัฐทั่วไปเป็นเวลากว่า 10 ปี (พ.ศ. 2541-2551)
จึงได้มีแนวคิดในการจัดตั้งสมาคมด้านกัดกร่อนขึ้นอีกครั้งเพื่อใช้เป็นสื่อกลางเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจทางด้านการกัดกร่อน เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านการกัดกร่อนและแนวทางแก้ไข พร้อมทั้งเก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านการกัดกร่อน รวมถึงวิธีควบคุมและป้องกัน ให้บริการการจัดฝึกอบรม รณรงค์ให้บุคคลทั่วไปตระหนักถึงผลกระทบของความเสียหายอันเนื่องมาจากการกัดกร่อน เป็นต้น ด้วยเหตุที่ว่า ผลจากการดำเนินงานของหน่วยงานที่ผ่านมา พบว่าปัญหาทางด้านการกัดกร่อนของวัสดุได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และนำมาซึ่งการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก จากนั้นในระหว่างวันที่ 16-19 กันยายน พ.ศ. 2551 ทางศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ได้จัดการประชุมวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุแห่งประเทศไทยครั้งที่ 5 ซึ่งมีนักวิชาการ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะและวัสดุภายในประเทศมาร่วมงานอย่างคับคั่ง จึงได้ถือโอกาสดังกล่าวในการระดมสมองบุคลากรผู้มีความรู้ความชำนาญในการปฏิบัติงานด้านวัสดุและการกัดกร่อนขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องกันให้ดำเนินการจัดตั้งสมาคมภายใต้ชื่อ สมาคมการกัดกร่อนแห่งประเทศไทย แต่เนื่องจากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติมีความตระหนักว่าว่าชื่อดังกล่าวไม่เป็นมงคลต่อประเทศและการจะใช้คำว่าแห่งประเทศไทยต่อท้ายสมาคมได้นั้น ทางสมาคมจะต้องมีการดำเนินกิจกรรมมายาวนานพอสมควรและกิจกรรมต้องครอบคลุมหลากหลายด้านรวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย ดังนั้นทางคณะกรรมการและสมาชิกสมาคมจึงได้มีความเห็นตรงกันให้ใช้ชื่อ สมาคมการกัดกร่อนโลหะและวัสดุไทย เพื่อยื่นจดทะเบียน และได้ทำการจดทะเบียนเพื่อก่อตั้งสำเร็จเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนหลายหน่วยงานที่มีความสนใจและปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการกัดกร่อนและการป้องกันร่วมกันจัดตั้ง โดยมี รศ.ศิริลักษณ์ นิวิฐจรรยงค์เป็นนายกสมาคมฯ โดยมีวัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อดำเนินงานในการพัฒนาทางด้านการป้องกันการกัดกร่อน และเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสูญเสียจากการกัดกร่อนของโลหะและวัสดุให้กับประชาชนชาวไทย ทั้งนี้เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันรวมถึงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 รศ.ศิริลักษณ์ นิวิฐจรรยงค์ ได้หมดวาระของการเป็นนายกสมาคม (ดำรงตำแหน่งครบ 2 วาระ) ทางสมาชิกจึงได้ทำการเลือกตั้งใหม่ และเห็นสอดคล้องกันให้ รศ.ดร.กอบบุญ หล่อทองคำ เป็นนายกสมาคมคนใหม่และดำรงตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน
- เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเทคโนโลยีด้านการกัดกร่อน และการป้องกันการกัดกร่อน
- เป็นศูนย์กลางรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเทคโนโลยีด้านการกัดกร่อนและการป้องกัน ตลอดจนจัดทำเอกสารเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีด้านการกัดกร่อนและการป้องกัน
- จัดฝึกอบรมเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และรณรงค์ให้ตระหนักถึงความเสียหายที่มีสาเหตุจากการกัดกร่อน
- เป็นศูนย์กลางติดต่อประสานงานกับองค์กรนานาชาติที่มีวัตถุประสงค์และดำเนินกิจกรรมคล้ายคลึงกัน
- เป็นศูนย์กลางส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีการกัดกร่อนและการป้องกัน
- เสริมสร้างความสามัคคีในหมู่มวลสมาชิกและผู้ประกอบการเกี่ยวกับการกัดกร่อนและการป้องกัน
- ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ
- สนับสนุนและพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีการกัดกร่อนและการป้องกันเท่าเทียมนานาชาติ
- ส่งเสริมให้เกิดการสร้างมาตรฐานวิชาชีพด้านเทคโนโลยีการกัดกร่อน และป้องกัน เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดภายในประเทศไทย